วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เทคโนโลยีการศึกษา

แนวโน้มแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้
1.ความหมาย
            แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ (Learning resource center) หรือ ศูนย์สื่อการศึกษา (Educational media center) หมายถึง หน่วยงานส่วนกลางที่ให้การสนับสนุนส่งเสริมการจัดสภาพการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ ด้วยการจัดเก็บ การให้บริการ การใช้ทรัพยากรการเรียนรู้ การให้คำปรึกษา รวมถึงการจัดบริเวณที่เป็นสัดส่วนสำหรับความต้องการในการใช้สื่อบางประเภท (UNESCO, 1987 อ้างถึงใน รัตนาภรณ์ ประวัติวัชรา, 2539)
            ปรัชญาและเป้าหมายของแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้
            1. เพื่อให้การศึกษา การบ่มเพาะกล่อมเกลา และช่วยพัฒนาการเรียนรู้ให้กับผู้สนใจไม่จำกัดความสามารถหรือพื้นฐานการศึกษาไม่ว่าจะเป็นใครก็สามารถเข้าไปแสวงหาความรู้ได้เท่าเทียมกัน
            2. เพื่อบริการสารสนเทศ ช่วยให้ผู้เข้ามาใช้บริการได้รับข่าวสารข้อมูลที่ถูกต้องอย่างรวดเร็วทันเหตุการณ์
            3. เพื่อวัฒนธรรมโดยเป็นศูนย์กลางของการเผยแพร่วัฒนธรรม และเป็นแหล่งส่งเสริมการมีส่วนร่วม และความซาบซึ้งในศิลปวัฒนธรรม
            4. เพื่อพักผ่อนและนันทนาการ แหล่งการเรียนรู้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนกิจกรรมเพื่อการพักผ่อนและนันทนาการที่ดีที่สุดประการหนึ่งในท้องถิ่น เป็นการช่วยให้ประชาชนได้ใช้เวลาว่างเพื่อการอ่านและแสวงหาความรู้ต่าง ๆ
            ชื่อเรียกต่าง ๆ ของแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้
            แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ ที่มีอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาของไทยในปัจจุบันมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันไปแล้วแต่สถาบัน (ไชยยศ เรืองสุวรรณ,2526 อ้างถึงใน รัตนาภรณ์ ประวัติวัชรา,2539) เช่น ศูนย์วิชาการสำนักวิทยาบริการ ห้องสมุด สำนักเทคโนโลยีการศึกษา ศูนย์เทคโนโลยีการศึกษา ศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษา แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ ศูนย์แหล่งการเรียน ศูนย์บริการโสตทัศนศึกษา เป็นต้น ซึ่งหากพิจารณาตามนิยายว่าหน่วยงานใดจัดเป็นแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ได้นั้น นอกจากจะพิจารณาจากการรวบรวมสื่อหลากหลายประเภทแล้ว ยังจะต้องมีการจัดระบบทรัพยากรการเรียนรู้ที่ดี โดยวางแผนดำเนินการและประเมินผลที่ชัดเจน

2. ตัวอย่างของแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้
แหล่งการเรียนรู้ภายในโรงเรียน แบ่งเป็น
1. แหล่งการเรียนรู้ในอาคารเรียน ได้แก่ ห้องสมุดโรงเรียน ห้องสมุดหมวดวิชา ห้องสมุดเคลื่อนที่ ห้องโสตทัศนศึกษา ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องศูนย์วิชา ห้องวัฒนธรรมไทย ศูนย์สื่อฯพัฒนาการเรียนการสอน เป็นต้น
2. แหล่งการเรียนรู้นอกอาคาร ได้แก่ สวนสมุนไพร สวนวรรณคดี สวนสุขภาพ สวนธรรม สวนหนังสือ สวนป่า อุทยานวิทยาศาสตร์ ศาลานักอ่าน สวนพฤษศาสตร์ เป็นต้น
3. แหล่งการเรียนรู้ที่เป็นแหล่งการจัดกิจกรรม แหล่งบริการต่าง ๆ เช่น การจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านการจัดกิจกรรมให้ความรู้ เสริมหลักสูตรในรูปของชุมชน เป็นต้น
แหล่งการเรียนรู้ภายนอกโรงเรียน แบ่งเป็น
¨     แหล่งการเรียนรู้ที่เป็นธรรมชาติทางภูมิศาสตร์ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หนองบึง ลำธาร น้ำตก ทะเลสาบ ภูเขา ป่า อุทยาน สัตว์ป่า สภาพแวดล้อมรอบตึก เป็นต้น
¨     แหล่งการเรียนรู้ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีการดำรงชีวิต เช่น ผู้รู้ ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำองค์กรท้องถิ่น ผู้นำทางศาสนา นักวิชาการของหน่วยงานราชการ ขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเชื่อ เป็นต้น
¨     แหล่งการเรียนรู้ที่สังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียน ได้แก่
-          ห้องสมุดประชาชน 801 แห่ง (ห้องสมุดประชาชนจังหวัด 73 แห่ง ห้องสมุดประชาชนอำเภอ 656
แห่ง ห้องสมุด เฉลิมราชกุมารี” 71 แห่ง หอสมุดรัชมังคลาภิเษก 1 แห่ง และห้องสมุดเคลื่อนที่อีกจำนวนหนึ่ง
-          ที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าง 35,289 แห่ง
-          ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน จำนวนละ 1 แห่ง (ปัจจุบันประมาณ 5,870 แห่ง)
-          ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาและเครือข่าย 16 แห่ง
-          ศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาและศูนย์ผลิตสื่อประจำภาพ 6 แห่ง
-          สวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 11 แห่ง
¨     แหล่งการเรียนรู้ที่สังกัดกรมศิลปากร ได้แก่
-          พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และประจำจังหวัด (จดทะเบียนราว 270 แห่ง)
-          หอสมุดแห่งชาติและจดหมายเหตุ
-          ศูนย์ศึกษา แหล่ง และอุทยานประวัติศาสตร์
¨     แหล่งการเรียนรู้ที่สังกัดกรมศาสนา ได้แก่วัดและศาสนสถานทั่วประเทศซึ่งมีประมาณ 8,000 แห่ง

3. ปัจจัยที่ส่งผลต่อทิศทางและแนวโน้มของแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้
1.      ปัจจัยในระดับนานาชาติ
1.1  พัฒนาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
1.2  ความร่วมมือด้านวิชาการในระดับนานาชาติ
2.      ปัจจัยภายในประเทศไทย
2.1  ข้อกำหนดในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.. 2542 หมวด 9 : เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา
2.2  นโยบาย หนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงเรียนสมบูรณ์แบบ
2.3  โครงการคอมพิวเตอ์เอื้ออาทร
2.4  แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย พ.. 2545-2549


4. แนวโน้มของแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้
            1. ในภาพรวมของประเทศจะมีจำนวนแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น และกระจายไปทั่วทั้งประเทศในเวลาอันรวดเร็ว รวมถึงรูปแบบแหล่งการเรียนรู้ใหม่ ๆ
            ในปัจจุบันนี้สถานที่ที่จัดได้ว่าเป็นแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้มีอยู่เฉพาะในสถานศึกษาที่มีความพร้อม เนื่องจากการเป็นแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ จะต้องประกอบด้วยการรวบรวมสื่อหลากหลายประเภทและต้องมีการจัดระบบทรัพยากรการเรียนรู้ที่ดี โดยวางแผนดำเนินการและประเมินผลที่ชัดเจน ดังนั้นห้องสมุดของโรงเรียนที่มีอยู่จึงมีองค์ประกอบไม่เพียงพอที่จะจัดเป็นแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ได้
            ลักษณะของแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้น
2. การจัดตั้งแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ต่าง ๆ เช่น พิพิธภัณฑ์ ศูนย์วิทยาศาสตร์ เป็นต้น จะมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการเอื้อของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.. 2542 โดยจะมีการสร้างให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่มีความพร้อมและศักยภาพในการเรียนรู้ อีกทั้งจากโครงการหนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงเรียนสมบูรณ์แบบก็จะส่งผลให้เกิดแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ในระดับโรงเรียนกระจายไปทั่วประเทศ
ยกตัวอย่างลักษณะของพิพิธภัณฑ์ในรูปแบบของแหล่งการเรียนรู้ในอนาคต ได้แก่
·       การมีส่วนร่วมในสังคม เป็นเรื่องของการส่งเสริม และให้บริการ การอำนวย
·       ความสะดวกแก่ผู้เข้าชมทุกประเภท
·       การให้ผู้ชมเข้าถึงความรู้ในวัตถุของที่จัดแสดงให้มากที่สุด
·       พิพิธภัณฑ์ต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) เพื่อให้ผู้ชมเข้าถึง
·       การบริการ
·       การแสดงแบบรายการ (Catalog) และเอกสารสำคัญ ๆ เป็นแบบเชื่อมตรงผ่าน
·       อินเตอร์เน็ต
·       การให้การบริการเสริมแก่ทุกพื้นที่
·       พิพิธภัณฑ์ควรปรึกษาหารือกับกลุ่มคนที่อยู่ในภาวะถูกกีดกันจากสังคมเพื่อรับรู้ปัญหา
·       และจัดการบริการจากสังคมเพื่อรับรู้ปัญหาและจัดการบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของบุคคลเหล่านี้
·       ผลงานจัดแสดงสะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรม
·       พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ และหอจดหมายเหตุ เป็นสถานที่เรียนรู้ในชุมชน
·       พิพิธภัณฑ์เป็นศูนย์ความร่วมมือขององค์กรต่าง ๆ
2. ห้องสมุดมีชีวิต หรือห้องสมุดธรรมชาติ : สิ่งที่เรียนรู้จากชุมชนมีมากมาย เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนต่าง ๆ ในชุมชน ประวัติประเพณี พิธีกรรมของชุมชน แหล่งการเรียนรู้ทางศาสนา วัฒนธรรม งานอาชีพ การประกอบอาชีพในชุมชน ซึ่งอาจจะเปรียบได้กับห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดและเป็นความจริงที่กำลังเกิดขึ้น
3. ลักษณะของทรัพยากรและการให้บริการ จะมุ่งสู่รุปแบบอิเลคทรอนิคส์มากขึ้น และเป็นระบบอัตโนมัติ

            ลักษณะดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นได้เนื่องจากมีปัจจัยเกื้อหนุนดังต่อไปนี้
1)      การพัฒนาทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่มีความก้าวหน้ามากขึ้น อุปกรณ์ต่าง ๆ ราคาถูกลง ประกอบกับในประเทศไทยมีโครงการคอมพิวเตอร์เอื้ออาทร ซึ่งส่งผลให้ราคาเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วประเทศตกลงมาอยู่ในวิสัยที่สถานศึกษาในระดับเล็ก ๆ ก็สามารถจัดหามาไว้ใช้งานได้ ซึ่งคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้การให้บริการอิเลคทรอนิกส์เกิดขึ้นได้ และในทางปฏิบัติแล้วไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องราคาแพง ควรเลือกเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีความสามารถเหมาะสมกับลักษณะงานที่ให้บริการมากกว่า
2)      โครงการแบ่งปันข้อมูลอิเลคทรอนิกส์ในลักษณะต่าง ๆ ทำให้การลงทุนด้านข้อมูลไม่สูงอย่างในอดีต เช่น โครงการ UNINET หรือ Schoolnet ที่มีการซื้อฐานข้อมูลอิเลคทรอนิกส์ดี ๆ ในลักษณะของ countrt-licensed ทำให้เครือข่ายสามารถให้บริการข้อมูลจากฐานข้อมูลชั้นนำเหล่านี้ได้
3)      ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศ ที่มีเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน รูปแบบความร่วมมือทางวิชาการของประเทศไทยกับต่างประเทศนั้น มีทั้งแบบแลกเปลี่ยนและรับการถ่ายทอดดังนั้นทรัพยากรการเรียนรู้บางส่วนจะถูกกำหนดโดยเงื่อนไขนี้ ยกตัวอย่างเช่น โครงการแลกเปลี่ยนบทเรียนทางไกลซึ่งต่างประเทศได้เตรียมไว้ในรูปแบบอิเลคทรอนิกส์เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นหากประเทศไทยต้องการเข้าร่วมโครงการนี้ก็จำเป็นต้องปรับบทเรียนให้เป็นแบบอิเลคทรอนิกส์ด้วยเช่นกัน ซึ่งแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ก็จะมีบทบาททั้งการร่วมพัฒนาสื่อใหม่ ๆ เหล่านี้
3. มีการสร้างเครือข่ายของแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ ที่มีความร่วมมือกันมากขึ้น
            มีการสร้างเครือข่ายของแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ โดยให้ประชาชนทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงความรู้และสามรถเรียนรู้ได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ต่อเนื่องตลอดชีวิต จึงมีการดึงชุมชน ครอบครัว สถาบันและองค์กรต่าง ๆ มาสร้างแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ขึ้น เพื่อจัดกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดการเรียนรู้ในเชิงประสบการณ์และพัฒนาชีวิต ตามความต้องการของผู้เรียนเอง ซึ่งแนวความคิดนี้สอดคล้องกับมาตรา 29 ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.. 2542 แม้ว่าปัจจุบันเครือข่ายแหล่งความรู้จะมีบ้างแล้ว เช่น PULINET (A Plan for the Establishment of Provincial University Library Network) เป็นเครือข่ายห้องสมุดมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค THAILINET M (Thai Academic Library Network Metropolitan) เป็นระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนกลาง SCHOOLNET   เป็นเครือข่ายโรงเรียนทั่วประเทศ และ UNINET เป็นเครือข่ายของทบวงมหาวิทยาลัย แต่พบว่าหน้าที่หลักของเครือข่ายดังกล่าวเป็นรูปของส่วนกลางเป็นผู้ให้ กล่าวคือ ส่วนกลางจัดหาข้อมูลแล้วกระจายไปในเครือข่าย ทำให้เกิดภาวะผู้ให้ และผู้รับ ไม่เกิดภาวะการณ์พัฒนาซึ่งกันและกัน และความร่วมมือเป็นไปในแบบทางเดียว ซึ่งความเป็นจริงก็ไม่ใช้สิ่งที่เกิดความคาดหมาย เนื่องจากสมาชิกในแต่ละเครือข่ายดังกล่าว ก็มีความสามารถในอยู่อย่างเอกเทศได้อยู่แล้ว เช่น มหาวิทยาลัยต่าง ๆ หรือโรงเรียนต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียง
4. บทบาทที่แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้จะมีความสำคัญมากขึ้น
1.      การขยายบริการไปสู่รูปแบบของ Virtual Center หรือห้องสมุดในอนาคต
เนื่องจากผลของโครงการคอมพิวเตอร์เอื้ออาทร ทำให้ประชาชนกลุ่มหนึ่งเข้าสู่อินเตอร์เน็ทได้ ดังนั้นความต้องการใช้งานแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ ก็จะต้องพัฒนารูปแบบเป็น Virtual Center เพื่อตอบสนองความต้องการในส่วนนี้ที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต
ห้องสมุดในอนาคตก็ยังคงทำหน้าที่ไม่ต่างจากเดิม คือ เป็นแหล่งบริการข้อมูล ข่าวสาร และความรู้ ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีพของมวลชน เพียงแต่รูปแบบการบริการที่จะต้องพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามสมัย รูปแบบห้องสมุดในอนาคตได้แก่ ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ห้องสมุดดิจิตอล ห้องสมุดเสมือน ห้องสมุดอัตโนมัติ ห้องสมุดลูกผสม ซึ่งในปัจจุบันห้องสมุดดิจิตอล (Digital Library For School Net) ก็เป็นความร่วมมือระหว่างเนคเทค และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำลังร่วมมือพัฒนา และวิทยาลัยดุสิตธานีก็กำลังทำห้องสมุดอัตโนมัติ (Automatic Library)
2.      การมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาและการบริหารการเรียนการสอน
แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ในประเทศไทยยังมีบทบาทในการพัฒนาและการบริการการเรียนการสอนไม่ชัดเจน แต่เมื่อนโยบายปฏิรูปการศึกษาที่เน้นการศึกษาแบบ child-center และการนำเอาสื่ออิเลคทรอนิกส์มาใช้ทางด้านการศึกษา รวมทั้งแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทยที่เน้นการพัฒนา e-learning ทำให้ต้องเกิดการพัฒนาด้านการเรียนการสอนเกิดขึ้นตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปโดยหน่วยงานกลางในสถานศึกษาที่จะต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบงานด้านนี้คือแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้
3.      มีส่วนร่วมในการประเมินคุณภาพการใช้ IT
เมื่อแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้พัฒนาไปถึงระดับหนึ่งแล้ว บุคลากรเริ่มมีความรู้ความสามารถทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมากยิ่งขึ้น ก็จะเข้าสู่กระบวนการของการประเมิน ซึ่งจะต้องเป็นแกนหลักในการประเมินคุณภาพการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและนำมาปรับปรุงการให้บริการและการจัดการทรัพยากรทาง IT ที่คุ้มค่าต่อไป
5. ส่วนการบริหาร และการจัดการ เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพให้มากขึ้น
·       การวางแผน มีการสำรวจความต้องการของผู้ใช้บริการในด้านต่าง ๆ รวมถึงวิเคราะห์ความพร้อมในด้านต่าง ๆ
·       การจัดองค์กร มีการจัดแหล่งการเรียนรู้แยกตามลักษณะของทรัพยากร และจัดระบบให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน
·       การจัดบุคลากร ควรกำหนดบทบาท หน้าที่รับผิดชอบ รวมทั้งคัดเลือกคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นคณะกรรมการ
·       การวินิจฉัยสั่งการ ผู้มีอำนาจในการวินิจฉัยสั่งการ ควรคำนึงถึงความสะดวก และความต้องการของผู้ใช้บริการเป็นหลัก
·       การประสานงาน ควรสร้างหลักความเข้าใจในบทบาทและหน้าที่ที่มีต่อการจัดระบบ และเชื่อมโยงแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ระหว่างสถาบัน
·       การรายงาน ควรศึกษาและประเมินบทบาทแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ที่มีต่อการจัดการศึกษาของสถาบันอย่างเป็นระบบ ซึ่งเมื่อผู้ใช้บริการสามารถรายงานหรือแจ้งถึงความต้องการ และปัญหาการใช้งานได้ทันที
·       การจัดงบประมาณ มีการแสวงหาความช่วยเหลือด้านการเงิน จากองค์กร หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ
6. ส่วนรูปแบบการบริการ
·       ควรจัดหาและผลิตทรัพยากรการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อใช้ในการเรียนรู้
·       จัดเจ้าหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวก ช่วยเหลือ และแนะนำการใช้งานจากแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่
·       จัดตารางเวลาในการฝึกอบรมที่เกี่ยวกับวิธีใช้ และการเข้าสู่ระบบเครือข่ายทรัพยากรการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
·       ส่งเสริมและสนับสนุน การแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศต่าง ๆ จากสถาบันต่างประเทศ
·       จัดเสนอข่าวสาร วิทยาการ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่มีส่วนช่วยในกระบวนการเรียนรู้ในรูปของเอกสารและเครือข่าย

วิถีไทย

ภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อการพัฒนาชุมชนและสังคมไทย
จำนงค์  แรกพินิจ *
1        แนวคิดสองกระแส
ในช่วงที่เพิ่งผ่านมานี้ ความล้มเหลวของการพัฒนาประเทศไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทุกหนทุกแห่งทั่วโลกที่ถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งมีวิธีคิดแบบแยกส่วน เน้นความเติบโตของเศรษฐกิจระดับมหาภาค ขาดความสนใจผู้คนและชุมชนที่ถือเป็นฐานรากของประเทศ แม้ว่าวัฒนธรรมนี้ได้วางรากฐานทางวัตถุแก่โลกนานัปการ โลกที่เคยกว้างใหญ่ไพศาลกลับเล็กลงด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม ประชากรแทบทุกส่วนในโลกสามารถติดต่อและได้รับผลกระทบซึ่งกันและกัน   จนโลกปัจจุบันมีสภาพไร้พรมแดน หรือโลกาภิวัฒน์ (Globalization)
แต่อีกด้านของความเติบโตทางวัตถุก็ก่อให้เกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจำนวนมหาศาล และที่สำคัญคือ ผู้คนได้สูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง ไร้ศักดิ์ศรี และรู้สึกโดดเดี่ยวเพราะถูกตัดขาดจากกันทางสังคม ทำให้เกิดแนวคิดอีกกระแสหนึ่งขึ้นเรียกว่า กระแสชุมชนท้องถิ่น (Localization) ที่ให้ความสำคัญแก่คนและชุมชนในการกำหนดแนวทางการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับสังคมวัฒนธรรมของตน เพื่อให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความหมาย มีค่าและมีศักดิ์ศรี เป็นแนวคิดที่มองทุกสิ่งทุกอย่างเชื่อมโยงถึงกันแบบองค์รวม
ในช่วง 20 กว่าปีมานี้ การวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาประเทศ อันเป็นผลจากการปะทะกันระหว่างแนวคิดสองกระแสดังกล่าวได้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในสังคมของเรา  การนำเสนอประสบการณ์ของชาวบ้านและชุมชนในทุกส่วนของประเทศที่ประสบความสำเร็จจากการพัฒนาบนพื้นฐานทางสังคมวัฒนธรรมได้เรียกร้องให้ผู้คนหันกลับมาทบทวนแนวคิดและแนวทางการพัฒนาประเทศใหม่ จนกระทั่งแนวคิดใหม่ที่ให้ความสำคัญต่อชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเคยเป็นกระแสรองมาก่อนหน้านี้ได้กลายเป็นกระแสหลักของการพัฒนาประเทศในปัจจุบัน
การนำแนวคิดใหม่มาใช้ในการพัฒนาประเทศ จะเกิดขึ้นไม่ได้ภายใต้การกฎเกณฑ์ และกติกาการพัฒนาประเทศแบบเก่า ด้วยเหตุนี้ การแก้ไขระเบียบกฎหมายของประเทศเพื่อให้สอดรับกับทิศทางใหม่นี้จึงเป็นสิ่งจำเป็น เห็นได้จากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อปี พ..2540 ที่กำหนด
2        พัฒนาการของภูมิปัญญาชาวบ้าน
ภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในช่วงที่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ทิศทางการพัฒนาประเทศกำลังแพร่หลายในสังคมไทย หรือเมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่ผ่านมา ผลจากการปะทะกันของความคิดสองกระแสดังกล่าวข้างต้น ช่วยให้สังคมไทยมีโอกาสทบทวนแนวคิดและทิศทางการพัฒนาในอดีต แสวงหาทางเลือกที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสังคมของเรา
การพัฒนาชนบท ซึ่งเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คนจำนวนมากที่สุดในประเทศไทยนั้น แต่เดิมเป็นหน้าที่หรืองานของรัฐ กิจกรรมหรืองานพัฒนาในยุคแรกๆเกิดขึ้นบนพื้นฐานการมองประชาชนในฐานะโง่ จน เจ็บ ขาดความรู้เรื่องการทำมาหากิน ล้าหลัง ไม่ทันสมัย และด้อยพัฒนา เจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐจึงมีหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือคนเหล่านั้นให้มีความรู้และรายได้เพิ่มขึ้น โดยการฝึกอบรมอาชีพ จัดหาแหล่งทุน และบางครั้งก็ช่วยจัดการด้านการตลาด บทบาทของชาวบ้านเป็นเพียงผู้รับ ส่วนรัฐเป็นผู้ให้ แนวทางการพัฒนานี้ได้กลายเป็นหลักในการทำงานในช่วง 20 ปีแรกของการพัฒนาชนบทไทย คือระหว่าง พ..2503-2523
แม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว แนวคิดในการพัฒนาชนบทไทยจะเปลี่ยนไปบ้าง จากการเน้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มรายได้ให้ประชาชนมาเป็นแนวเศรษฐกิจ-สังคม เพราะเห็นว่าการพัฒนาต้องกะทำควบคู่กันทั้งสองด้าน จึงนำเรื่องกลุ่มเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่วิธีทำงานก็ยังไม่เปลี่ยนไปจากเดิม คือหน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กำหนดและมีบทบาทสำคัญเหนือชาวบ้านตลอดมา
3        ความหมายของภูมิปัญญาชาวบ้าน

3.1     การให้ความหมาย  นักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้อง สนใจงานด้านภูมิปัญญาต่างเห็นพ้องต้องกันในการให้ความหมายภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ให้ความสำคัญต่อองค์ความรู้  ความรู้ และความรอบรู้ในด้านต่างๆของชาวบ้าน และชาวบ้านสามารถนำสิ่งเหล่านั้นมาใช้แก้ปัญหาที่ต้องประสบในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ชีวิต ครอบครัว และชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข หรือเกิดดุลยภาพในทุกระดับ

3.2     องค์ประกอบ การให้ความหมายดังกล่าวข้างต้น ทำให้สามารถแยกองค์ประกอบของภูมิปัญญาชาวบ้านให้เห็นเด่นชัดขึ้น ดังนี้
1)  องค์ความรู้  หมายถึง ความรู้หลายอย่างมาเชื่อมโยงกันเป็นชุดความรู้  ด้วยเหตุนี้ กิจกรรมใดของชาวบ้านจะถูกยกให้เป็นกิจกรรมทางภูมิปัญญาก็ต่อเมื่อได้รับการพิสูจน์แล้วว่ากิจกรรมนั้นเกิดจากองค์ความรู้ ไม่ใช่ความรู้เดียว
ตัวอย่าง เกษตรธาตุสี่ ของนายหรน  หมัดหลี  อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา  นายหรน  หมัดหลีเริ่มต้นทำการเกษตรจากการรู้จักชีวิตและครอบครัวของตัวเอง ในฐานะเกษตรกรยากจน เขาต้องรู้จักพืชที่ต้องการจะปลูกทุกชนิดเป็นอย่างดี และนำความรู้เหล่านั้นมาวางแผนการเพาะปลูก พืชชนิดใดจะให้ผลภายใน 1 เดือน  3 เดือน  6 เดือน  และ12 เดือน เพื่อให้ครอบครัวมีอาหารและรายได้ตลอดปี 
นอกจากนั้น นายหรน  หมัดหลียังมีความรู้เรื่องดิน ก่อนปลูกพืชทุกชนิดต้องมีการทดสอบว่าเหมาะสมกับดินบริเวณนั้นหรือไม่ มีความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและสังคมของพืช  ความรู้นี้มีพื้นฐานมาจากการร่ำเรียนแพทย์แผนไทย ทำให้เขามองพืชทุกชนิดว่ามีธาตุสี่ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม และไฟ เช่นเดียวกับคน และได้ใช้ความรู้นี้มาวางหลักในการเพาะปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น หลักในการปลูกก็คือการนำพืชที่มีลักษณะตรงข้ามกันมาปลูกในหลุมเดียวกัน เช่น พืชที่มีธาตุน้ำต้องปลูกคู่กับพืชที่มีธาตุไฟ เป็นต้น การปลูกพืชในลักษณะนี้จะไม่ทำให้ต้นไม้แต่ละชนิดส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน ต้นไม้แต่ละชนิดต่างให้ดอกผลตามธรรมชาติของมันเอง
นายหรน  หมัดหลี เห็นว่าไม้ผลพันธุ์ดี เช่น ทุเรียนหมอนทองมีราคาแพง คนยากจนไม่มีกำลังซื้อ เขาจึงปลูกทุเรียนพื้นบ้าน ซึ่งมีราคาถูก ทำให้คนจนในชุมชนสามารถซื้อไปบริโภคได้ ตลาดของเขาจึงอยู่ที่หมู่บ้าน ไม่ใช่การส่งออกสู่เมืองใหญ่ หรือต่างประเทศ ตลาดของนายหรน  หมัดหลีจึงเป็นตลาดของคนยากคนจน หวังพึ่งตนเอง ทำให้เขาไม่ตกเป็นเบี้ยล่างของพ่อค้า
การเชื่อมโยงความรู้หลายด้านนี้เข้าด้วยกัน กลายเป็นองค์หรือชุดความรู้ด้านการเกษตรของนายหรน  หมัดหลี ที่เรียกว่า เกษตรกรรมธาตุสี่
2)  เทคนิค หรือวิธีการ หมายถึง กลวิธีหรือการจัดการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้สอดคล้องกับองค์ความรู้ เทคนิคหรือวิธีการจะมีความแตกต่างกันออกไปตามประเภทของภูมิปัญญา เช่น เทคนิคการผลิต เทคนิคการจัดการ และเทคนิคการเชื่อมประสานความสัมพันธ์ เป็นต้น
            ตัวอย่าง  จากองค์ความรู้ด้านการเกษตรธาตุสี่ ดังกล่าวแล้วข้างต้น นายหรน  หมัดหลีได้นำมาปฏิบัติผ่านทางเทคนิคหรือวิธีเพาะปลูกพืช  ในช่วงแรก เขาเริ่มปลูกพริก มะเขือ แตงกวา และตะไคร้ จากนั้นจึงปลูกกล้วย และไม้ผลไม้ยืนต้นอื่นๆตามมา โดยเฉพาะไม้ผลไม้ยืนต้น จะปลูกหลุมละ 3 ต้น แต่ละต้นมีธาตุต่างกันตามหลักการเพาะปลูกที่กล่าวข้างต้น นอกจากนั้น นายหรน  หมัดหลียังคำนึงถึงความสูง รูปทรง และลักษณะการให้ดอกออกผลของไม้แต่ละต้นที่นำมาปลูกร่วมกัน
            ในด้านการดูแลหรือบำรุงรักษาต้นไม้ นายหรน  หมัดหลีมีวิธีปฏิบัติที่สอดคล้องกับธรรมชาติ เช่น ไม่ถางหญ้าในหน้าแล้ง ใช้ปุ๋ยจากซากพืชซากสัตว์ที่เน่าเปื่อย และไม่ตัดแต่งกิ่ง เพราะเชื่อว่าธรรมชาติจะจัดการสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวมันเอง กล่าวคือกิ่งที่อยู่ไม่ได้ ไม่เหมาะสมก็จะร่วงหล่นไปเอง
            ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเทคนิคหรือวิธีการเพาะปลูกพืช ที่ทำให้สวนของนายหรน หมัดหลีมีลักษณะเฉพาะ แตกต่างจากสวนของเกษตรกรอื่นๆ แต่สอดคล้องกับองค์ความรู้ของตนที่สั่งสมมา
3)  การรับใช้ชีวิตในปัจจุบัน  ภูมิปัญญาชาวบ้านไม่ใช่เรื่องเล่าในอดีต ไม่ใช่ของเก่าที่แสดงในพิพิธภัณฑ์ แต่เป็นสิ่งที่มีตัวตน และผ่านการพิสูจน์แล้วว่าสามารถรับใช้วิถีชีวิตผู้คนในปัจจุบัน หรือมีพลังในสังคมยุคใหม่
การทำการเกษตรแบบธาตุสี่ของนายหรน  หมัดหลีได้พิสูจน์ให้เห็นว่าครอบครัวของเขามีอาหาร มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และส่งเสียลูกจำนวน 11 คนให้ได้รับการศึกษาอย่างถึง และเกือบทั้งหมดเรียนจบระดับอุดมศึกษา  และการเกษตรแบบนี้ยังได้กลายเป็นตัวแบบหรือแบบอย่างที่ดีที่เกษตรกรทั่วประเทศเดินทางมาเรียนรู้อย่างไม่ขาดสาย
การพิจารณาองค์ประกอบของภูมิปัญญาชาวบ้าน ในฐานะความรู้ที่กล่าวนี้ ทำให้สามารถวิเคราะห์ต่อไปได้ว่า ภูมิปัญญาชาวบ้านน่าจะเป็นคำเดียวกับเทคโนโลยีชาวบ้าน เพราะเทคโนโลยีได้รวมเอาความรู้และเทคนิคไว้ด้วยกัน เทคโนโลยีไม่ใช่เครื่องมือ หรือเครื่องใช้ไม้สอยเพียงอย่างเดียว
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การหมักปลาร้าในภาคอีสาน น้ำปูในภาคเหนือ และน้ำบูดูในภาคใต้ต่างเป็นภูมิปัญญาและเทคโนโลยีในตัวมันเอง

          3.3  ประเภทของภูมิปัญญาชาวบ้าน ในฐานะของความรู้ ภูมิปัญญาชาวบ้านสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
1)  ภูมิปัญญาชาวบ้านที่เป็นนามธรรม ได้แก่ โลกทัศน์และชีวทัศน์ เป็นปรัชญาในการดำเนินชีวิต เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเกิด แก่ เจ็บ ตาย คุณค่าและความหมายของทุกสิ่งในชีวิตประจำวัน
2)   ภูมิปัญญาชาบ้านที่เป็นรูปธรรม หรือแบบแผนความประพฤติปฏิบัติ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับลักษณะเฉพาะด้าน เช่น การทำมาหากิน การเกษตร หัตถกรรม ศิลปะและอื่นๆ

3.3  ภูมิปัญญาชาวบ้านเชิงกระบวนการ  นอกจากการพิจารณาภูมิปัญญาชาวบ้านในฐานะความรู้แล้ว อีกแง่หนึ่งสามารถพิจารณาได้ในเชิงกระบวนการ ซึ่งจะสอดคล้องกับสภาวะของภูมิปัญญาที่มีลักษณะเลื่อนไหล หรือพลวัตสูง ไม่หยุดนิ่งตายตัว และมีพัฒนาการตลอดเวลา
การพิจารณาภูมิปัญญาชาวบ้านเชิงกระบวนการนี้ ควรเริ่มต้นวิเคราะห์ให้เห็นการปะทะกันระหว่างวัฒนธรรมสองกระแส กระแสแรกคือ วัฒนธรรมหรือแนวคิดเก่า ซึ่งเป็นสภาวะที่ดำรงอยู่ในขณะนั้น และการเข้ามาของวัฒนธรรมหรือแนวคิดใหม่ ซึ่งจะมีลักษณะขัดแย้งกัน การปะทะกันระหว่างวัฒนธรรมหรือสภาวะทั้งสองกระสนี้จะนำไปสู่การปรับตัวของชาวบ้านเพื่อความอยู่รอด ผลจากการปรับตัวนี้จะนำไปสู่กระแสที่สาม หรือกระแสทางเลือก อันเป็นผลจากการสังเคราะห์วัฒนธรรมสองกระแสเข้าด้วยกัน กระแสที่สามหรือกระแสทางเลือกนี้จะช่วยลดความขัดแย้งและลดการกวัดแกว่งในวิถีชีวิตของผู้คน เกิดความราบรื่นในการดำเนินชีวิต ซึ่งรวมถึงการสืบทอดวัฒนธรรมหรือคุณค่าของสังคมให้ดำรงต่อไป
ตัวอย่าง  การใช้แรงงานของชาวบ้านในจังหวัดสงขลา ที่ได้พัฒนาระบบแลกเปลี่ยนแรงงานของตนขึ้น เพื่อรองรับการเข้ามาของระบบเกษตรกรรมแบบใหม่
ในอดีต ชาวบ้านในภาคใต้มีวัฒนธรรม-ประเพณีอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงาน คือการออกปาก-กินวาน ซึ่งเทียบได้กับการลงแขกในภาคกลาง เอามื้อในภาคเหนือ และเอาแฮงในภาคอีสาน การออกปาก-กินวานก็คือ การขอแรงหรือออกปากหรือวานให้เพื่อนบ้านมาช่วยทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นงานเร่งด่วนให้เสร็จทันเวลา เมื่อออกปากหรือวานคนอื่นมาช่วยงาน เจ้าของงานหรือเจ้าภาพหรือผู้ออกปากจะต้องจัดเตรียมอาหารคาวหวานไว้เลี้ยงดูผู้ที่มาช่วยงาน ทำให้เกิดคำซ้อนขึ้นมาอีกคำคือ กินวาน  แรงงานจากการออกปาก-กินวานนี้จะใช้เกือบทุกโอกาส เช่น งานในเรือกสวน ไร่ นา การสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย และงานประเพณี-พิธีกรรมต่างๆที่ถูกกำหนดด้วยเวลา เป็นต้น
ต่อมาเมื่อชาวบ้านในภาคใต้ โดยเฉพาะชาวสวนยางพาราต้องต้อนรับการเข้ามาของวัฒนธรรมใหม่ คือระบบเกษตรกรรมแบบพืชเดี่ยว หรือการทำสวนยางพันธุ์ดี ที่ต้องใช้แรงงานแบบเข้มข้น โดยมีระบบแรงงานใหม่ คือการจ้างงาน ซึ่งเป็นระบบการแลกเปลี่ยนแบบต่างตอบแทน โดยใช้หลักเหตุและผลทางเศรษฐกิจเข้ามาเป็นตัวกำหนด เข้ามาเป็นฐานรองรับการทำสวนยางแบบใหม่
4        ลักษณะของภูมิปัญญาชาวบ้าน
ภูมิปัญญาชาวบ้านทั้งในฐานะความรู้และกระบวนการจะมีลักษณะโดยรวม ดังนี้
1)      เป็นรวมที่เกี่ยวกับองค์ความรู้ เทคนิค และมีพลังในสังคมปัจจุบัน
2)  แสดงระหว่างความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติแวดล้อม และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ
3)      เป็นองค์รวม หรือเชื่อมโยงกิจกรรมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต
4)  เป็นเรื่องของการแก้ปัญหา การจัดการ การปรับตัว การเรียนรู้เพื่อความอยู่รอดของบุคคล ชุมชน และสังคม
5)      เป็นแกนหลักหรือกระบวนทัศน์ในการมองชีวิต และเป็นพื้นฐานความรู้ในเรื่องต่างๆ
6)      มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อปรับสมดุลในการพัฒนาทางสังคมตลอดเวลา
7)      มีลักษณะเฉพาะหรือเอกลักษณ์ในตัวเอง

5        ปัจจัยที่มีผลต่อพัฒนาการของภูมิปัญญาชาวบ้าน
1)      ความรู้เดิมในเรื่องนั้นๆ ผสมผสานกับความรู้ใหม่ที่ได้รับ
2)      การสั่งสมและการสืบทอดความเรื่องในเรื่องนั้นๆ
3)      ประสบการณ์เดิมที่สามารถเทียบเคียงกับเหตุการณ์หรือประสบการณ์ใหม่
4)      สถานการณ์ที่ไม่มั่นคง หรือมีปัญหาที่ยังหาทางออกไม่ได้
5)      รากฐานทางพระพุทธศาสนา หรือศาสนาอื่นๆที่ผู้คนยึดถือ