วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารและการสืบค้น

รศ.ดร.นิตยา  กาญจนะวรรณ
ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก
คณมนุษยศาสตร์
มหาวิทยาลัยรามคำแหง

บทนำ
          คำว่า บูรณาการซึ่งใช้กันอยู่ทั่วไปในปัจจุบันนี้ เข้าใจกันว่าหมายถึงคำว่า integration คำนี้ถ้าเป็นศัพท์ทางสังคมวิทยาจะใช้ว่า บูรณาการรวมหน่วยมีความหมายว่า การนำหน่วยที่แยกๆ กันมารวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันถ้าเป็นศัพท์คอมพิวเตอร์จะมีคำว่า integrated ซึ่งมีความหมายว่า เบ็ดเสร็จตัวอย่างเช่น “integrated circuit (IC)” “วงจรรวม, วงจรเบ็ดเสร็จ (ไอซี)”
            ความหมายโดยรวมก็คือ การผสมผสานแห่งคุณสมบัติ หรือกลุ่มต่างๆ กันได้เป็นอย่างดีเมื่อนำมาใช้กับภาษาก็น่าจะหมายความว่า การผสมผสานภาษากับแวดวงต่างๆ ได้เป็นอย่างดีหรือจะกล่าวอย่างง่ายๆ ก็คือ การใช้ภาษาให้ได้อย่างเหมาะสมในสังคมปัจจุบันนั่นเอง

ธรรมชาติของภาษา
                การใช้ภาษา คือการนำภาษามาใช้เพื่อสื่อความหรือสื่อสาร การสื่อความหรือสื่อสารมีผู้เกี่ยวข้องกันสองฝ่ายคือ ผู้ส่งความ กับผู้รับความ หรือผู้ส่งสารกับผู้รับสาร
            ผู้ส่งความหรือผู้ส่งสารใช้การพูดกับการเขียนเป็นเครื่องมือ ส่วนผู้รับความหรือผู้รับใช้การฟังและการอ่านเป็นเครื่องมือ
            การใช้ภาษาจะมีประสิทธิภาพได้ก็เมื่อทั้งสองฝ่ายเข้าใจความหรือสารได้ตรงตามความต้องการ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีข้อบกพร่องในการใช้เครื่องมือของตน การสื่อความหรือสื่อสารนั้นย่อมมีปัญหา
            มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความพร้อมที่จะ เรียนรู้ และ เลียนแบบ ภาษา ไม่มีเด็กคนใดที่เกิดมาก็สามารถพูดได้ทันที มีแต่ความสามารถที่จะรับรู้ข้อมูลทางด้านภาษาจากรอบตัวเข้ามา แล้ววิเคราะห์หาหลักว่าภาษาที่ได้รับมานั้นมีลักษณะอย่างไร ถ้าจะสร้างเองจะต้องทำอย่างไร เมื่อรู้หลักแล้วก็มีการจดจำและเลียนแบบข้อมูลที่ได้รับไปเรื่อยๆ มีงานวิจัยที่ยืนยันว่า เมื่อเด็กอายุ 6 ขวบ จะสามารถพูดภาษาพื้นเมืองได้ดี (ทั้งนี้รวมทั้งการฟังด้วย) คือ ออกเสียได้ชัดเจนและพูดถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ของภาษานั้นๆ แต่คำศัพท์ที่รู้อาจจะมีจำนวนจำกัด ส่วนการเขียนการอ่านนั้นจะต้องเรียนกันอย่างจริงจัง
            กล่าวอย่างง่ายๆ ก็คือ พ่อแม่ ญาติ พี่น้อง ที่เข้ามาพูดจาด้วยช่วยให้ตัวอย่างประโยค และช่วยเพิ่มคำให้แก่พจนานุกรมในหัวของเด็ก เด็กไทยไปเติบโตเมืองฝรั่ง ได้ข้อมูลเป็นภาษาฝรั่งก็พูดภาษาฝรั่ง เด็กฝรั่งมาเติบโตในเมืองไทย ได้ข้อมูลเป็นภาษาไทย ก็พูดภาษาไทย ถ้าได้ข้อมูลหลายภาษาในเวลาเดียวกัน เด็กคนนั้นก็จะเป็นคนพูดได้หลายภาษา
            โครงสร้างของประโยคนั้นมีอยู่ไม่มาก คนเราสามารถรับรู้และสร้างประโยคทุกชนิดในภาษาของตนได้ในเวลาไม่นานนัก แต่ข้อมูลทางด้านคำนั้นคนเรามีไม่เท่ากัน แล้วแต่ประสบการณ์ของแต่ละบุคคล ประสบการณ์ที่ว่านี้ หมายรวมทั้งครอบครัว การศึกษา สังคม ฯลฯ
เมื่อก่อนนี้คนเรารับข้อมูลกันโดยธรรมชาติ กล่าวคือรับจากครอบครัว โรงเรียน และสังคมในวงแคบเท่านั้น แต่ทุกวันนี้ ข้อมูลเข้ามาจากแหล่งต่างๆ มากมาย ทั้งโดยธรรมชาติ และผิดธรรมชาติ ความสามารถในการเลียนแบบของมนุษย์ก็ได้ทำงานอย่างเต็มที่ คำที่พ่อแม่ครูอาจารย์ไม่เคยสั่งสอน เด็กก็สามารถที่จะใช้ได้ แต่จะเข้าใจหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ตัวอย่าง เช่น เด็กชายวัย 3 – 4 ขวบ เวลาอยู่ในสวนสนุก ก็สามารถจะพูดได้ว่า เอขอควบคุมยานอวกาศ นะฮับหรือเด็กหญิงวัยเดียวกันก็อาจจะพูดกับคุณยายได้ว่า จุนยายจายก มรดก ให้บีไม้ค่ะ ซึ่งพอจะเดากันได้ว่าคงจะได้มาจากภาพยนตร์ โทรทัศน์ หรือการ์ตูนนั่นเอง หรือเด็กบางคนก็อาจจะพูดได้ว่า ฮ่วยแซบอีหลีทั้งๆ ที่พ่อแม่ก็พูดแบบนั้นไม่เป็น ซึ่งก็คงจะเดากันได้ไม่ยากว่าเอามาจากไหน นี่คือธรรมชาติของชีวิตปัจจุบันที่แหล่งข้อมูลมีกว้างขวางขึ้นกว่าสมัยก่อน ครอบครัวและโรงเรียนไม่ใช่สถาบันเพียง 2 สถาบันที่จะเป็นแหล่งข้อมูลอีกต่อไป
            ในขณะเดียวกันเด็กบางคนก็ยังมีปัญหาทางด้านภาษาจำกัด ต้องใช้เวลารับภาษาอีกพอสมควรจึงจะใช้ภาษาในสังคมนั้นๆ ได้อย่างเหมาะสม ข้อพิสูจน์ในเรื่องการรับข้อมูลทางภาษาไม่เท่ากันนี้จะเห็นได้ในรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งซึ่งให้เด็กอายุไม่เกิน 8 ขวบมาให้คำจำกัดความของคำบางคำ ปรากฏว่าเด็กจะตอบได้ตามประสบการณ์แห่งภาษาของตนเท่านั้น เช่น ดาวเทียมหมายถึง ดาวใส่กระเทียม” “เด็กแก่แดดหมายถึง เด็กที่อยู่ในแดดนานๆเป็นต้น

ความเปลี่ยนแปลงและการยืมเป็นสิ่งธรรมดาของภาษา
                ในปัจจุบันภาษาในโลกนี้มีมากกว่า 3,000 ภาษา นักภาษาศาสตร์ได้พยายามจัดหมวดหมู่ภาษาเหล่านี้โดยใช้หลักเกณฑ์ต่างๆ มากมาย เช่น ลักษณะโครงสร้าง สายกำเนิด และคลื่นภาษา เพื่อแสดงให้เห็นความเหมือน ความแตกต่าง และความสัมพันธ์ของภาษาต่างๆ เหล่านั้น
            อย่างไรก็ตามภาษาทุกภาษาในโลกนี้ ถ้ายังมีผู้ใช้กันอยู่ย่อมต้องมีความเปลี่ยนแปลงเป็นะธรรมดา ภาษาที่ไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย ก็คือภาษาที่ตายแล้ว ซึ่งหมายความว่าผู้ที่ใช้ภาษานั้นๆ ตายหมดแล้วนั่นเอง นอกจากจะมีความเปลี่ยนแปลงในตัวเองแล้ว ภาษาที่ยังไม่ตายก็ยังมีความเกี่ยวข้องกับภาษาต่างประเทศด้วย หากผู้ใช้ภาษานั้นๆ มีการติดต่อกับผู้ที่ใช้ภาษาอื่นๆ
            ภาษาไทยก็อยู่ในลักษณะนี้เช่นกัน แต่เดิมมาเราก็มีความเกี่ยวข้องกับประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงเท่านั้น เช่น  ทางการเมือง มีความเกี่ยวข้องกับมอญ เขมร ญวน พม่า มลายู ทางวัฒนธรรมมีความเกี่ยวข้องกับ จีน อินเดีย และในปัจจุบันนี้ เรามีความเกี่ยวข้องกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น ทางธุรกิจและเทคโนโลยี มีความเกี่ยวข้องกับอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ฯลฯ
            ความเกี่ยวข้องในทางภาษาที่มองเห็นได้ชัดก็คือการมีคำยืมจากภาษาต่างประเทศ ถ้าเป็นคำที่ยืมกันมานานแล้วผู้ใช้ภาษาในปัจจุบันก็อาจจะไม่รู้สึกว่าเป็นคำที่มีที่มาจากต่างประเทศ เช่น บาป บุญ คุณ โทษ จมูก เก้าอี้  ถ้าเป็นคำใหม่ก็อาจจะไม่คุ้นหูในตอนแรก แต่เมื่อใช้ไปนานเข้าก็สื่อกันได้ เช่น โอเค โหวต เคลียร์ เบลอร์ ซีเรียส คอมพิวเตอร์ คำบางคำอาจจะใหม่มากเกินไปสำหรับคนทั่วไป จึงอาจจะสื่อความไม่ได้เช่น คนที่ทำเรื่องนี้ต้องการจะดิสเครดิต เขาแต่ไม่นานก็คงจะสื่อกันรู้เรื่องถ้าได้ยินและเห็นตัวอย่างของการกระทำดังว่ามากขึ้น
            พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.. 2542 ได้บันทึกไว้ว่า คำภาษาไทยส่วนหนึ่งมีที่มาจากภาษาต่างประเทศ 14 ภาษา คือ เขมร จีน ชวา ญวน ญี่ปุ่น ตะแลง เบงกาลี บาลี ฝรั่งเศส มลายู ละติน สันสฤต อังกฤษ และฮินดี อันที่จริงนอกเหนือจาก 14 ภาษานี้แล้ว ก็ยังมีภาษาอื่นๆ เช่น คำว่า สบู่มาจากภาษาโปรตุเกส เป็นต้น
            การสื่อสารอันฉับไวในปัจจุบันมีส่วนช่วยทำให้ผู้คนคุ้นเคยกับคำใหม่ๆ และสำนวนใหม่ๆ ได้เร็วยิ่งขึ้น ประโยคอย่าง เรื่องนี้ถูกตรวจสอบโดยละเอียดแล้วโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายเรากับ อาหารนี้ง่ายต่อการกินแม้จะฟังขัดหูในตอนแรก แต่ต่อไปก็อาจจะใช้กันไปทั่วเพราะได้ยินอยู่ทุกวันจนเกิดความเคยชิน ใครจะรู้ได้ว่าเมื่อตอนที่คนไทยหัดใช้คำว่า  จมูก กับ เก้าอี้ ใหม่ๆ นั้น อาจจะมีคนบางกลุ่มไม่พอใจก็ได้
            ระยะทางและเวลาไม่ใช่อุปสรรคขวางกั้นความกลมกลืนของภาษาดังในอดีตอีกต่อไปแล้วโลกกำลังจะกลายเป็นโลกเดียวกันด้วยการสื่อสารอันสะดวกและรวดเร็วปานใด ภาษาก็อาจจะกลายเป็นภาษาเดียวกันไปได้อย่างรวดเร็วปานนั้น จาก 3,000 ภาษา อาจกลมกลืนกันไปจนเหลือเพียงไม่กี่ภาษา หรืออาจจะเหลือเพียงภาษาเดียวก็ได้
            สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงก็คือไม่มีสิ่งที่เรียกว่าภาษาบริสุทธิ์ในโลกนี้ ภาษาทุกภาษาต้องมีการเปลี่ยนแปลง ภาษาทุกภาษาต่างก็ได้รับอิทธิพลและต้องปนกับภาษาอื่นๆ บ้าง

ภาษามาตรฐาน ภาษาราชการ ภาษาประจำชาติ
            แม้จะยอมรับกันว่าภาษาย่อมมีการเปลี่ยนแปลง แต่ภาษาส่วนใหญ่ในโลกก็มีสิ่งที่เรียกว่า ภาษามาตรฐาน (standard language)” และมีปัญหาการใช้ภาษาเกิดขึ้นด้วย ทั้งนี้เพราะสมาชิกบางส่วนในสังคมใช้ภาษาผิดไปจากมาตรฐานที่สมมติกันขึ้นในสังคมนั่นเอง
            ภาษามาตรฐานหรือภาษาราชการ (official language) ของประเทศไทยหมายถึงภาษาไทยรูปแบบหนึ่งซึ่งยอมรับใช้กันในการจัดพิมพ์และเขียน เป็นรูปแบบของภาษาที่สอนกันในโรงเรียน นอกจากนี้ยังเป็นภาษาที่ผู้มีการศึกษาใช้ และเป็นภาษาที่ใช้ในการรายงานข่าวทางวิทยุ โทรทัศน์และในสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งมีลักษณะเดียวกันนี้ด้วย ภาษาไทยมาตรฐานในปัจจุบันคือภาษาไทยกรุงเทพฯ ซึ่งนับว่าเป็นภาษาถิ่นภาษาหนึ่ง
            อย่างไรก็ตามภาษาไทยมาตรฐานก็เป็นเพียงแบบหนึ่งของภาษไทยซึ่งมีอยู่มากมายหลายแบบ เช่น ภาษาถิ่นภาคพายัพ ภาษาอื่นภาคอีสาน ภาษาถิ่นภาคใต้ เพียงแต่ว่าภาษาไทยมาตรฐานนั้นมีความสำคัญกว่าแบบอื่นๆ ในแง่สังคมเท่านั้น หากจะกล่าวในเชิงภาษาศาสตร์แล้ว ภาษาไทยมาตรฐานก็ไม่ได้ดีไปกว่าภาษาไทยแบบอื่นแต่ประการใด ภาษาทุกภาษาและภาษาระบบที่โครงสร้งมีความซับซ้อนและมีกฎเกณฑ์เพียงพอกับความต้องการของผู้ใช้ภาษนั้นๆ ทั้งนี้เพราะไม่มีคุณสมบัติใดๆ เลยของภาษาที่ไม่เป็นมาตรฐานอันจะทำให้ภาษานั้นๆ ด้อยกว่าภาษาที่เป็นมาตรฐาน
            อาจจะมีผู้สงสัยว่า ภาษาไทยกรุงเทพฯ กับภาษาไทยมาตรฐาน เป็นภาษเดียวกันหรือไม่หากจะกล่าวว่าเป็นภาษาเดียวกันก็ไม่ผิด เพราะลักษณะเนื้อหาของภาษทั้งสองแทบจะเป็นสิ่งเดียวกัน แต่จะกล่าวว่าเป็นภาษาเดียวกัน โดยสมบูรณ์ก็ยังไม่ถูกต้องนัก นักภาษาศาสตร์จึงใช้ชื่อทั้งสองสำหรับการมองภาษาที่เหลื่อมล้ำกันจากสองมิติ คือ ในแง่ถิ่นหรือพื้นที่เรียกว่า ภาษาไทยกรุงเทพฯ แต่ในแง่บทบาทประจำชาติ ควายอมรับ หรือความสำคัญ เรียกว่า ภาษาไทยมาตรฐาน
ในบางประเทศ รัฐบาลหรือผู้นำประเทศจะเป็นผู้เลือก ภาษาประจำชาติ (national language) ในบางครั้งก็ต้องพัฒนาตัวอักษรที่เหมาะสม หรือเป็นผู้ตัดสินใจว่าควรจะเลือกเอาภาษาเฉพาะกลุ่มภาษาใดหรือลักษณะทางภาษาลักษณะใดมาประกอบในการพัฒนาภาษาประจำชาติด้วย
สำหรับประเทศไทยนั้น ก่อนที่จะมีอักษรไทยใช้ ภาษาไทยก็ได้อาศัยใช้อักษรของขอมโบราณและมอญโบราณมาก่อน ทั้งนี้เพราะภาษากับตัวเขียนนั้นเป็นคนละเรื่องกัน ภาษาแต่ละภาษาอาจจะเลือตัวอักษรหรือสัญลักษณ์ขึ้นมาแทนได้หลายแบบ แล้วแต่ความเหมาะสม  เป็นที่เชื่อถือกันว่า  พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นเมื่อ พ.. 18261 จากนั้นตัวอักษรไทยก็มีวิวัฒนาการมาโดยตลอด จนกระทั่งมีรูปแบบดังที่ยอมรับกันอยู่ในปัจจุบันนี้ รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนการทำภาษาให้เป็นมาตรฐานมาโดยตลอด ทั้งนี้เพื่อทำให้เกิดการติดต่อสื่อสารง่ายขึ้น เพื่อให้มีตัวอักษรประจำภาษา และเพื่อให้ตำราเรียนมีรูปแบบเดียวกันหมด หน่วยงานของรัฐบาลในปัจจุบันซึ่งทำหน้าที่ดังกล่าวนี้ก็คือ ราชบัณฑิตยสถาน โดยมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีให้ใช้ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.. 2542 เป็นมาตรฐานสำหรับใช้ในการเขียนหนังสือไทยเพื่อให้เป็นระเบียบเดียวกัน และบรรดาหนังสือราชการและการศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนให้ใช้สะกดตามระเบียบและพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.. 2542 เสมอไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น